วันนี้..ไม่ได้พูดหยาบ เพียงพูดถึง หอยกาบที่มีอยู่ทั่วไปตามคลองและแม่น้ำ เมื่อสมัยก่อนๆ ที่ต้องย้ำว่า สมัยก่อนๆ เพราะว่า ทุกวันนี้ คุณจะหาหอยกาบได้ยากมาก หอยกาบ เป็นหอยน้ำจืดมีขนาดออกจะเขื่องกว่าหอยลาย แต่เล็กกว่าหอยแมงภู่ หอยกาบนั้น ดูจะไม่คุ้มค่ากับการนำมาทำอาหารสักเท่าไร ถ้ามีปลาหรืออาหารอย่างอื่นที่ง่ายกว่า เพราะหอยกาบมีเนื้อน้อย ถามว่ารสชาดเป็นอย่างไร หอยกาบก็หอม อร่อยกว่าหอยแมงภู่แน่นอน สมัยที่แม่น้ำลำคลองยังสะอาด เด็กๆ ลงเล่นน้ำไม่เสียเปล่า หาเก็บหอยกาบที่ฝังในทราย (โผล่มานิดนึง) ตามทรายหรือเลนแม่น้ำ หรือ เลนในคลอง เอามาต้มแล้วแยกเอาเนื้อไปตากแห้ง เก็บไว้ผัดใส่ผักยี่หร่า หรือ ช้าพลูกินกับข้าวอร่อยดี เป็นที่ชื่นชอบหรืออาหารโปรดของเด็กๆ ถ้าปีไหน น้ำดีก็มีหอยกาบมาก จึงพบทั้งในหนองน้ำกลางทุ่ง ท่าน้ำริมแม่น้ำและลำคลอง แต่พอเหนือแม่น้ำมีคนอยู่อาศัยมากขึ้น หอยกาบก็ค่อยๆหายไป จนในที่สุดแม่น้ำวังทองที่รับน้ำจากลำน้ำเข็กน้อย เข็กใหญ่จากเทือกเขาเพชรบูรณ์สะอาดไม่พอเสียแล้ว หอยกาบจึงสูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำสายนี้ รวมไปถึงลำคลอง หนองบึงในทุ่งนา ก็ไม่มีหอยกาบอีกเลย เหมือนๆกับ ทุ่งนาที่ไม่มีอีกแล้วสำหรับ หอยโข่ง เพราะถูกหอยเชอรี่เบียดออก และยังถูกซ้ำเติมด้วยยาฆ่าแมลงเข้าไปด้วย
หอยกาบ..สูญไปจากท้องทุ่งและวิถีชีวิตคนชายคลอง เหมือนๆกับหอยโข่ง หอยขวาน ไปอ่านบทความหนึ่งจึงได้ทราบว่า หอยกาบเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำได้เป็นอย่างดี มิน่าเล่า มันถึงสูญพันธุ์ไปจากวิถีชนบท ไม่ใช่ว่าเขาเอาไปทำ Indicator หรอก แต่เพราะคุณภาพของน้ำไม่ดีพอสำหรับมัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น