วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิถีชนบทกับการเปลี่ยนแปลง

   วิถีชนบท ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ..หรือ จำเป็นต้องรับมัน ในอดีต เมื่อกลับบ้าน เราอาศัยทางเกวียนสำหรับการเดินหรือขี่จักรยาน ทางเกวียนก็เป็นลู่วิ่งของเรา ตอนที่เราพยายามจะพัฒนาร่างกายเพื่อสอบเข้าเตรียมทหาร วัน เวลาผ่านไปและไม่หวนคืน เรากลับไปบ้าน แรกเริ่มทางเกวียนก็ค่อยๆหายไป เพราะมีรถไถมือเข้ามาแทนและวิ่งไม่ประจำทางเหมือนก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีทางบ้างในตอนใกล้หมู่บ้าน ต่อมาทางวิ่งก็ไม่มี เพราะทำนากันปีละ 2 ครั้ง ทุ่งนา ที่มีตอซังข้าวก็ไม่มี หนองน้ำก็พลอยหายไปด้วย พืชผักตามบึงตามหนอง พวก อีไล อีเลิศ เลยไม่มีไปด้วย วิถีชีวิตที่เคยมีที่หาปลา หาผักก็เปลี่ยนไป อาศัยก็แต่บึงใหญ่ ที่วิถียังคงเดิม ชาวนาเอง เมื่อก่อนยังปลูกผัก ปลูกมันไว้กินยามหนาวมา มันปิ้งตอนเช้าตรู่ก็คงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว วิถีของการพึ่งพาตนเองลดหายไปอย่างน่าตกใจ วิถีชีวิตการปลูกพืชสวนครัว เปลี่ยนเป็น ซื้อจากตลาด ซึ่งก็คือ ใช้เงินซื้อ ซื้อไปแทบทุกอย่าง ชาวนาในวันนี้ ไม่สามารถยืนหรือมีความพอเพียงได้ ในอดีตชาวนา อาจไม่ต้องมีเงินเลย แต่มีข้าว มีปลา มีผักและพริกที่พอเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้สบายๆ ทุกวันนี้ ถ้าชาวนาไม่มีเงิน อาจจะอยู่ได้ไม่กี่วัน

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ฤดูน้ำหลาก ความสุขที่เปลี่ยนไป

   ฤดูน้ำหลาก เป็น คำที่ผมรำลึกเอง แล้วทำไมจึงบอกว่า เป็นความสุขหละ เมื่อยังเป็นเด็ก เป็นชีวิตที่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เว้นแต่ การเรียน การถูบ้าน การอาบน้ำ และ กลับมากินข้าวในตอนเย็นให้ทันเวลา ฤดูน้ำหลาก นั้น ไม่น่าจะมีในพจนานุกรม
   ฤดูน้ำหลาก เป็นช่วงหนึ่งในฤดูฝน ที่มีน้ำหลากมาจากภูเขาหรือที่สูงกว่า น้ำจะไหลท่วมล้นคันนาเป็นตอนๆ ตรงไหนที่คันนาขาด เจ้าของนากับเพื่อนบ้าน ก็จะไปช่วยกันซ่อมแซม อาจมีข้าวที่ถูกน้ำพัดเสียหายบ้าง แต่ไม่มาก น้ำหลาก มักเป็นคุณกับชาวนามากกว่า ด้วยว่า มีปลามากมายมากับสายน้ำ ชาวนาจะมีอาหารการกินสมบูรณ์ก็ตอนนี้ บางคนที่มีข่ายดักปลา ก็สบายกว่าคนอื่น เพราะวางเย็น เช้ามาเก็บ ได้ปลาตัวเขื่องๆดี แต่ที่นิยม ก็คือ การวางหลี่ตรงน้ำไหล จะได้ปลาตัวเล็กตัวน้อยไปจนถึงปลาช่อนขนาดข้อมือ ปลาน้อยก็เอามาทำ ปลาจ่อม ปลาเห็ด กระปิ น้ำปลา มีอาหารตุนไว้สำหรับลงแขกเกี่ยวข้าว
   ฤดูน้ำหลาก จึงเป็นคุณกับชาวนา และเป็นที่สนุกสนานของเด็กๆ เพราะมีน้ำมากมายให้เล่น มีปลาให้จับ มีปลากัดเลี้ยงไว้กัดกัน
   ฤดูน้ำหลากนั้น น้ำจะไหลเอ่อท้นคันนามาเรื่อยๆ มองเห็นขาวดาดเป็นสายๆ ตรงที่น้ำข้ามคันนา แต่ น้ำที่หลากมานั้น ใสพอสมควร เพราะผ่านการกรองจากหลายๆ ป่า พอมีคนบอกว่ามีน้ำหลาก ผู้ใหญ่ดีใจ เพราะข้าวอุดมดี เด็กๆดีใจ เพราะจะได้เล่นน้ำ หาปลา ได้กินปลาเห็ด
   แต่น้ำหลาก ณ วันนี้ ต่างออกไป กลายเป็น น้ำท่วม น้ำที่ท่วมนั้นทั้งขุ่นข้น มีเศษซากนานาประการ ที่สำคัญ ทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า
   ฤดูน้ำหลาก จึงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว มีแต่น้ำท่วม

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ครูกับนักเรียน

ครูเป็นคนสำคัญของโรงเรียนและของชาวบ้านเลยทีเดียว ยิ่งถ้ามีข่าวว่า จะมีครูคนใหม่มาสอนที่โรงเรียนละก็ คนทั้งหมู่บ้านจะตื่นเต้นเหมือนๆกับนักเรียนเลยไม่มีผิด บ้างก็แอบไปดู บ้างก็เอาผลไม้หรือของกินไปให้ก็มี แถมยังคอยติดตามว่าสวยไหม สอนดีไหม ดุมากไหม แต่หายากหน่อยที่จะมีครูผู้หญิง เพราะหนทางห่างไกลจากตัวเมือง ทั้งที่ความจริงก็สัก 30 กิโลเมตรเห็นจะได้ ก็ถือว่าไกลแล้ว เพราะครูจะต้องเดินทางด้วยจักรยาน กว่าจะเข้ามาถึงก็มอมแมมพอควร ด้วยว่า ถ้าเป็นหน้าฝนก็ต้องจูงจักรยานมาตามถนนดินดำที่เต็มไปด้วยหลุมโคลนที่รถโดยสารวิ่งสะเปะสะปะ บ้างก็รอยติดหล่มทั่วไป ถ้าเป็นหน้าแล้ง ฝุ่นก็ปลิวให้ฟุ้งไปทั่วตัว ครูผู้ชายมักจะใช้จักรยานฮัมเบอร์สูงๆ ครูผู้หญิงก็คันเตี้ยหน่อยแต่จำยี่ห้อไม่ได้ เพราะมีครูผู้หญิงน้อยเหลือเกิน ส่วนครูผู้ชายถ้าอยู่นานๆหน่อย ก็มักจะเป็นเขยของหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียงจะได้ไม่ต้องเดินทางไกลนัก คนที่เป็นครูนั้น ถ้าเป็นรุ่นเก่าหน่อยจะจบชั้น ป. 7 ต่อมาก็เป็น ปกศ.เตี้ย (เขาเรียกอย่างนั้นจริงๆ) หา ปกศ.สูงยากหน่อย แต่ครูมีความเป็นครูจริงๆ สอนอย่างทุ่มเท เรียกว่าแทบจะจับมือเขียนหนังสือกันเลย บางคนที่สอนยากหน่อย ครูต้องจ้ำจี้จ้ำไช สอนให้อ่านออกเขียนได้ก่อนจบชั้น ป.4 เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่เท่าที่สังเกตดู มีหลายๆคน ตอนเรียนหนังสือ อ่านไม่ค่อยออก เขียนหนังสือไม่สวยแต่พอเข้าวัยรุ่น กลับขยันอ่าน (จดหมาย) แถมยังเขียนหนังสือสวยกว่าตัวพิมพ์ดีด ก็มี ขยันเหลือเกิน (ตอนเรียน ขี้เกียจ) เขียนไปหานักจัดรายการเพลง (ยุคนั้น มีขุนพลเพลงลูกทุ่งหลายคน เป็นยุคที่เฟื่องฟูที่สุด การติดต่อสื่อสารกันและกัน มักใช้สื่อสารทางรายการเพลงจึงสะดวก แถมมีชื่อออกอากาศด้วย เรียกว่า “ออกอากาศ” นั้น ไม่ผิดหรอกนะ) ขอเพลงนี้ให้กับสาวคนนั้น ขอเพลงนั้นให้กับหนุ่มคนนี้ ด้วยถ้อยคำสละสลวยแบบสุนทรภู่กันเลย ยิ่งถ้าได้อ่านจดหมายรักละก็ ช่างหยดย้อย ด้วยโคลง ร้อยแก้ว หรือ ร้อยกรอง(แต่มักซ้ำๆกัน ตอนครูสอนไม่เคยจำได้)
ครู...สอนจริงๆ ตีจริงๆ (รวมทั้ง พ่อหรือแม่เด็กฝากให้ช่วยตีแรงๆ บ้าง ก็มี) คำว่า สอนจริงๆ นั้น ครูจะต้องสอนภาษาไทย ให้กับ เด็กๆที่พูดภาษาท้องถิ่น และ ยังไม่รู้จักภาษาไทยเสียด้วยซ้ำไป ครูสมัยนั้นต้องสอนแม้กระทั่ง การทำสวนครัว การทำกับข้าว ส่วนเรื่อง ตีจริงๆ นั้น ยุคสมัยนั้น พ่อแม่หรือผู้ปกครอง มอบอำนาจ (กำชับครูด้วย อีกต่างหาก)ให้ตีได้เต็มที่ ตามแบบอย่างคำสอนกระมัง “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเอง ก็คนหนึ่งละที่ได้ดีเพราะครู (ถึงแม้นว่า จะขี้เกียจ จนตัวเป็นขน) และศิษย์เองไม่เคยลืมบุญคุณของครูทุกๆท่าน จนทุกวันนี้

วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

การละเล่นของเด็กเลี้ยงควาย 1

การละเล่นของเด็กเลี้ยงควาย 1
การละเล่นของเด็กๆ สำหรับเด็กผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อนหรือฤดูหนาว ไม่ว่าจะที่โรงเรียนหรือเลี้ยงควายในวันหยุด จะนิยมสะสมฝาหอยโข่งหรือเรียกว่า เบี้ย เลือกเฉพาะเบี้ยที่มีรูปทรงสมบูรณ์ นำมาเล่นโยนเบี้ย การเล่นโยนเบี้ย ก็คล้ายๆกับผู้ใหญ่ ที่นิยมเอาเหรียญสลึง เหรียญห้าสิบสตางค์ (เหรียญบาทไม่นิยมเล่น เพราะเงินบาทหนึ่งมีค่ามากแล้ว) มาโยนหลุมกินเงินกัน วิธีเล่นโยนหลุมของผู้ใหญ่ก็แล้วแต่จะตกลงกัน พื้นที่เล่นจะเป็นตามลานดินที่วัดหรือตามร้านเจ๊กก็ตามแต่สะดวก โดยทั่วไปใช้สตางค์แดงฝังเสมอหรือต่ำกว่าดินเล็กน้อย ให้ทุกคนลงเค้ากันในหนึ่งเกมส์ เช่น ตาละห้าสิบสตางค์หรือบาท กี่คนก็เอามารวมกัน แล้วมาจับสลากว่าใครจะได้โยนก่อน วิธีการโยนนั้น จะต้องเรียงเหรียญ(ที่มีขนาดเท่ากัน) ให้เหลื่อมกันพอที่เอานิ้วหัวแม่โป้งกดเบาๆ นิ้วชี้และนิ้วกลางประคอง แล้วโยนให้ได้เหลี่ยมและน้ำหนัก ใครที่โยนแล้วเหรียญเรียงกัน ถ้าสัมผัสสตางค์แดงยิ่งดี ถือว่าเข้าหลุม เหรียญที่จะจายออกมา (เหรียญที่โยนถูกยากที่สุด) จะถูกผู้เล่นด้วยกันบังคับให้โยนเหรียญแม่ของผู้โยนให้ถูก โดยต้องไม่ไปถูกเหรียญใดๆ ถ้าโยนถูกก็จะได้กินทั้งกอง ถ้าไม่ถูก จะได้กินเฉพาะที่อยู่ในหลุม แต่ถ้าโยนไปถูกเหรียญอื่นๆ ถือว่าถูกปรับ ต้องเพิ่มเงินลงกองกลาง การละเล่นแบบนี้ นิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ใครมือดีคนนั้นก็ได้ไป การละเล่นแบบนี้นี่เองที่ระบาดมายังเด็กๆนักเรียนและเด็กเลี้ยงควาย คือ การเล่นโยนเบี้ย คือใช้เบี้ยแทนเหรียญสลึงเหรียญห้าสิบสตางค์ แต่เบี้ยเองก็มีค่าในการแลกเปลี่ยนกับหนังสะติ้กหรือลูกกระสุนดิน ในสมัยก่อนเบี้ยหรือฝาหอยโข่งนั้น ต้องไปหาเก็บตามริมบึงที่มันตายแล้วหรือเฉพาะบ้านที่มีพ่อบ้านไปหาปลาในบึง แล้วเก็บหอยโข่งมาทำอาหาร ใครที่เล่นเก่งๆก็จะเป็นที่ยกย่องในหมู่เด็กๆด้วยกัน