วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

น้ำท่วมวังทอง

   สภาพน้ำท่วมบ้านเรือนในเขต อ.วังทองพิษณุโลก

      ไม่ใช่จับปลานะภาพนี้ แต่เป็นภาพที่ชาวนาช่วยกันช้อนข้าวเปลือกที่ตากแห้งไว้บนถนน เพราะนาน้ำท่วม แต่ก็ไม่พ้นน้ำระลอกที่ 2
      สาเหตุน้ำท่วม มาจากน้ำที่หลากมาจากลำน้ำเข็กของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะมีการทำพนังกั้นน้ำสูง 1 เมตรจากระดับตลิ่ง แต่ปริมาณน้ำที่มากและไหลเร็ว (ไม่มีป่าไม้ชะลอน้ำ...อีกแล้ว) ที่ซ้ำหนัก ก็คือระบายลงลำน้ำน่านไม่ได้ นอกจากระบายไม่ได้แล้ว น้ำในลำน้ำน่านยังหนุนขึ้นมาอีก ท่วมจ้า...
     เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก น้ำที่หลากมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ จะท่วมล้นตลิ่งแม่น้ำวังทองจริง แต่น้ำจะมาอย่างช้าๆ เรียกว่า รู้ว่าน้ำล้นตลิ่ง น้ำจะมาถึงก็อีกหลายชั่วโมง ยิ่งถ้าเป็นน้ำจากเทือกเขาโดยตรงนี้ ..ก็หลายวันกว่าจะมาถึง
     แต่ชาวบ้าน..ไม่ได้เป็นทุกข์เป็นร้อนกันนัก เว้นแต่รายที่ข้าวยังเล็กมากๆ ประเภทยืดลำต้นไม่ทันน้ำ ประเภทนี้ข้าวจะตายได้ แต่โดยทั่วๆไป ข้าวหนีน้ำได้อยู่แล้ว แล้วก็ท่วมไม่เกินอาทิตย์สองอาทิตย์
     ดีเสียอีก ที่ได้จับปลาที่มากับน้ำหลาก เตรียมเสบียงไว้ยามหน้าเกี่ยวข้าว
     เด็กๆ หรือ เป็นที่สนุกสนานเขาล่ะ เพราะได้เล่นน้ำตามคันนาและท้องนา แต่ขอโทษ เถอะ น้ำที่หลากมาในสมัยนั้น เชื่อหรือไม่ ว่า ใสจนเห็นตัวปลา เวลาอาบน้ำ เขาก็อาบน้ำในท้องนากันนี่แหละ ไม่ต้องไปอาบในห้องน้ำหรือในโอ่งหรอก เพราะน้ำในโอ่ง เขามีไว้กิน

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

บางระกำ ถึง ลุ่มน้ำำเข็ก

    วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม ก็ได้ทราบว่า ที่ราบลุ่มแม่น้ำเข็ก (แม่น้ำวังทอง พิษณุโลก) น้ำท่วมเพราะพนังกั้นน้ำไม่ไหว ที่ราบลุ่มแม่น้ำเข็กรับน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์เป็นที่ราบลาดเทเข้าหาตัวจังหวัดพิษณุโลก ลงแม่น้ำน่านที่เมืองพิษณุโลก ปริมาณน้ำขนาดมหาศาล มากที่สุดเท่าที่เห็นคนที่เกิดมากว่า 50 ปี แน่นอนปริมาณน้ำนี้รวมกับน้ำจากลำน้ำยม ท่วมดาดเข้าพิจิตร (บางระกำ น่ะไม่ต้องพูดถึงแล้ว ในตอนนี้) เข้านครสวรรค์ แน่นอนว่าที่ลุ่มภาคกลางจะทนรับน้ำไว้ได้นานสักเท่าใด ครานี้ ก็จะระกำกันไปทั่ว แต่กรุงเทพจะเป็นอย่างไร ก็ไม่แน่ใจ ถ้าเดือนตุลาคม -พฤศจิกายน น้ำยังไม่ซา ก็จะเจอวิกฤติจากน้ำเหนือกับน้ำทะเลหนุน กทม. จะรอดไหม