วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2551

วิถีชนบทไทย(๓)

สำหรับนาดำนั้น ก็ต้องรอตากดินจนกว่าฤดูทำนาจะมาถึงจริงๆ แต่จะต้องปลูกกล้าข้าวไว้ใช้ดำนา เริ่มจากการกักน้ำไว้ในแปลงนาที่จะทำแปลงกล้าข้าว โดยไถดินและไถซ้ำ (ไถสอด) หลังจากนั้นจึงคราดเอาหญ้าออก แล้วจึงจะปรับพื้นที่ด้วยขลุบ จะได้ยินเสียงขลุบตีน้ำและดินดังแต่ไกล[เทือกนา] ช่วงนี้เด็กๆ มักจะเดินตามผู้ใหญ่ไปด้วย คอยจับปลาและกบที่กำลังงง เมื่อแล้วเสร็จทิ้งไว้บ่ายๆก็หว่านข้าวกล้าได้ที่ได้เตรียมพันธุ์ไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ก่อนที่จะเอามาหว่านก็จะต้องนำข้าวพันธุ์ใส่กระสอบแช่น้ำไว้สัก ๑ คืนก่อนจึงเอามาหว่านได้ หลังจากหว่านแล้วให้ทิ้งไว้ ๑ คืน ก็ต้องไขน้ำออกจากแปลงข้าวกล้า ช่วงนี้ก็ต้องระวังพวกนกพวกหนูไม่มากวน หลังจากนั้นอีก ๑๐-๑๕ วันจึงจะไขน้ำเข้ามาในแปลงกล้าข้าวได้ กล้าข้าวที่จะนำไปปลูกได้ ควรจะมีอายุไม่น้อยกว่า ๒๕ วัน
ช่วงระหว่างรอฤดูฝนที่จะมาจริง ชาวนาจะต้องทำการซ่อมคันนาอุดรอยรั่วที่เกิดจากหนูและปูให้เรียบร้อยหรืออาจจำเป็นต้องเสริมคันนาให้สูงขึ้น ถ้าเป็นคันนาสูงๆ ก็ต้องใช้พลั่วยาวและมีที่เหยียบสำหรับเวลาแทงดิน แต่ถ้าเป็นคันนาเตี้ยๆก็นิยมใช้จอบและเสียมก็เพียงพอ สำคัญอยู่ที่การเรียงดินที่เสริมขึ้นมา ต้องเรียงให้เป็นระเบียบและห้ามคนขึ้นไปเดิน บางรายก็ใช้หนามคลุมไว้ก็มี นอกจากนั้นชาวนาต้องใช้เวลาช่วงนี้ออกหาเสบียงไว้สำหรับฤดูทำนา เพราะเมื่อถึงเวลานั้นมาถึง ชาวนาจะไม่มีเวลาไปหาปูหาปลาหรือแม้กระทั่งขึ้นไปเก็บหน่อไม้บนเขา
ช่วงเวลานี้เช่นกัน ที่เป็นช่วงเวลาของการขุนวัวควายให้อ้วนพี ด้วยหญ้าระบัดที่งอกงามจากน้ำฝนตามคันนาที่ถูกเผาไปเมื่อหน้าแล้ง และหญ้ากลางนาที่งอกงามจากเบี้ยที่หลงเหลืออยู่จากหน้าแล้ง ประกอบกับน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์ หน้านี้จึงเห็นปลักควายอยู่ทั่วไปตามท้องทุ่ง
แต่สำหรับนาใหม่ ซึ่งก็คือนาที่เพิ่งจะบุกเบิกจากป่าละเมาะหรือป่าไผ่ ก็จะเหนื่อยเอาการอยู่ เพราะจะต้องถางป่า และขุดต้นไม้ออกจากแปลงให้มากที่สุด ต้นไม้ที่ได้ก็เอามาเผ่าถ่านเก็บไว้ใช้ในครัวเรือนได้อีก การถางป่านั้น โดยทั่วไปเขาจะถางป่าหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวไปแล้ว ปล่อยให้ไม้แห้งโดยการทิ้งไว้จนใกล้ฤดูฝน จึงจะเผาได้ แต่จะต้องเตรียมการไว้ให้ดี คือมีแนวกันไฟ ระดมคนไว้คอยดับไฟ ถ้าหากมีไฟออกนอกแนวกันไฟ เมื่อพลบค่ำจึงจะเริ่มจุดไฟได้ เสียงไฟประทุผสมกับเสียงระเบิดของปล้องไผ่ที่ถูกความร้อน และก็เป็นเรื่องปกติที่มีไฟก็ต้องมีลม บางครั้งจึงดูน่ากลัวถ้าเผาป่าใกล้บ้านมากๆ เพราะหลังคาบ้านเป็นหญ้าแฝกทั้งสิ้น ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่ต้องเผาป่าใกล้บ้าน จึงต้องเตรียมถังน้ำและคนอยู่บนหลังคาไว้พร้อม
อย่างไรก็ตาม การเผาป่าด้วยตามลักษณะนี้ หนีไม่พ้นที่จะมีการทำลายสัตว์ป่าไปด้วยฉะนั้น เมื่อมีการเผาป่า ชาวนาจะเตรียมปืนลูกซองยาวหรือปืนแก็บแล้วก็ไปดักตามด่านที่สัตว์จะหนีไฟออกไปเข้าทางปืน ส่วนใหญ่จะเป็น เสือปลา อีเห็น พังพอนและนิ่ม แต่บางครั้งก็น่าอเนจอนาถ ถ้าป่านั้นมีแมวป่าที่มีลูกอ่อนอาศัยอยู่ สัตว์พวกนี้มีสัญชาตญาณการหนีไฟ แต่ไม่สามารถเอาลูกเล็กไปได้ อย่างไรก็ตามลูกแมวป่านั้น ชาวบ้านชอบที่จะเก็บเอามาเลี้ยง เพราะเก่งในการจับหนูที่จะมากินพืชพันธุ์ที่เก็บไว้ แต่ที่สุดแล้ว สัญชาตญาณของแมวป่านั้นชอบที่จะอยู่ป่าและหากินไกลๆ มันจะออกจากบ้านเมื่อโตขึ้น แล้วก็ปล่อยให้เจ้าของที่เลี้ยงเฝ้าคิดถึงมันด้วยความห่วงหา นาใหม่ผสมกับเถ้าธุลีนั้น ขอให้มีน้ำพอชุ่มชื้นก็เพียงพอแล้วสำหรับการปลูกข้าว วิธีการปลูกก็คล้ายกับนาดำ แต่ไม่ต้องตีคราดหรือขลุบ เพราะน้ำจะยังไปไม่ค่อยถึง ใช้เพียงไม้แหลมแทงดินให้เป็นรูขนาดพอที่จะใส่กล้าข้าวก็พอ ต้นข้าวในนาใหม่ก็จะแตกพุ่มกว้างใหญ่ให้ผลผลิตดีเหลือเกิน นอกจากนั้น นาใหม่ยังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นผักในแปลงนาหรือแม้กระทั่งปลาดุกที่ชอบเหลือเกินกับนาใหม่
เมื่อฝนในฤดูฝนมาเยือน ชาวนาก็จะเริ่มวิถีชีวิตอย่างที่เคยเป็นมาในสมัยปู่ย่า เสียงกระดึงคอควายสลับกับเสียงไล่ควายเริ่มแต่ก่อนรุ่งสาง ไถแปรแล้วจึงไถสอด คราดแล้วจึงตีขลุบ คนถอนกล้าก็ถอนเตรียมไว้ ก่อนถอนกล้านั้น การถอนกล้านั้น โดยทั่วไปใช้มือซ้ายรวบใบกล้าบิดเล็กน้อยมือขวาประคองแล้วลากเกือบขนานกับพื้นระนาบ แล้วฟาดต้นกล้ากับฝ่าเท้าให้ดินหลุดจากรากกล้าข้าวพอประมาณ นั้นคนถอนกล้าจึงมักเปื้อนดินโคลน เพราะดินที่กระเด็นจากตัวเองทำเองบ้าง จากคนข้างเคียงบ้าง เมื่อได้ขนาดพอดีแล้ว จึงมัดเป็นกำๆ แช่น้ำไว้
การไถนา การถอนกล้าและการดำนา จะต้องรีบทำให้เร็ว จึงมักจะเอาแรงกัน ที่เรียกกันว่า การลงแขก เจ้าของนาจะไปบอกกล่าวเพื่อนบ้าน ขอแรงไถนาวันนั้นวันนี้ แล้วเตรียมอาหารไว้สำหรับเลี้ยงแขก ตามจำนวนที่ได้ขอแรงไว้ และก็เป็นประเพณีที่จะต้องไปใช้แรงคนอื่นๆที่มาช่วยเรา สำหรับอาหารนั้นก็ตามอัตภาพ ขออย่างเดียว อย่าได้เลี้ยงแขกด้วยน้ำพริก ปลาเผาอย่างเด็ดขาด เพราะแขกจะกินกันอย่างเต็มคราบ ข้าวที่เตรียมไว้ก็จะไม่พอ กินมากก็อุ้ยอ้ายแล้วก็ชักง่วงนอน จะพาลเสียการเสียงานไปเปล่าๆ
การดำนา เมื่อตีเทือกนาได้ที่แล้ว คนที่เตรียมกล้าจะตัดใบกล้าข้าวให้สั้นลงพอประมาณ โดยการปักมีดกับเฉียงๆ แล้วจับมัดกล้ารูดลงให้ใบมีดตัดใบกล้า แล้วจึงหาบกล้ามาโยนทิ้งในเทือกนาในตำแหน่งที่หยิบฉวยได้ โดยที่คนดำนาไม่ต้องเดินไปเดินมาไกลๆให้เสียเทือกนา การหาบกล้านั้นใช้วิธีเรียงกำกล้าเป็นชั้นๆวางในไม้รองกล้า ส่วนผู้ที่ดำนาจะปักกล้าข้าว โดยจับโคนกล้าด้วยนิ้วโป้ง นิ้วชี้และนิ้วกลางจิ้มลงในดินแล้วปิดด้วยนิ้วโป้งอีกที การดำนาก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ชาวนาได้สังสรรค์กัน เพราะดำนาไปก็ได้พูดคุยกันไปด้วย ยิ่งถ้าเป็นการลงแขกก็ยิ่งคึกครื้นมากขึ้น เพราะบางครัวเรือนก็มีวิทยุทรานซิสเตอร์ได้ฟังนิยายหรือฟังเพลงลูกทุ่งไปด้วย บางคนก็มีดีที่โวหารหรือร้องเพลงให้เป็นที่คึกครื้น พอให้ลืมความเมื่อยล้า แต่คนที่อายุมากหน่อย พอกลับถึงบ้านมักจะให้ลูกหลานเหยียบหลังให้ เพราะต้องก้มนานๆ เมื่อดำนาตัวเองเสร็จแล้วก็ไปใช้แรงคนอื่นบ้างไล่วนกันไปจนแล้วเสร็จกันทั้งหมู่บ้านและข้างเคียง ใช้เวลาทั้งหมดก็ไม่เกินเดือน
ในช่วงเวลานี้ เจ้าของนาต้องหมั่นมาดูแลนาเหมือนกัน คอยดูหมั่นอุดรูน้ำรั่วซึมตามคันนาจึงมักจะเห็นชาวนาแบกจอบและมีดหวดเดินท่อมๆในนา ในนาที่เพิ่งดำเสร็จใหม่ๆ ใช่ว่าจะไม่มีปลาในนาข้าว ในนาข้าวที่เห็นน้ำขุ่นโคลนตมนั้น ชาวนาจะใช้รันดักปลาไหล รันดักปลาไหลใช้ไม้ไผ่ทะลวงปล้องเหลือเฉพาะข้อท้ายลำ ที่ปล้องท้ายลำจะเปิดรูเป็นแนวยาวเกือบตลอดป้อง ด้านหัว รันจะใส่งามีไม้สอดป้องกันงาหลุดและใช้ปักดิน ปลาไหลจะเข้าได้แต่ออกไม่ได้ เหยื่อล่อปลาไหลจะใช้เหยื่อที่เป็นไส้เดือนสับหรือหอยทุบคลุกกับดินให้เป็นก้อน วิธีดักจะใช้เท้าถีบดินใต้น้ำให้เป็นทางเรียบ ใส่เหยื่อลงในรัน กดปากกระบอกรันให้แทนปักดินให้หน้ารันเสมอดิน ส่วนด้านท้ายจะลอยขึ้นให้รูเปิดบางส่วนของท้ายรันปิ่มๆน้ำ เพื่อให้อาหารส่งกลิ่นล่อปลาไหล ให้เอาใบไม้คลุมส่วนนี้ไว้ด้วย ตอนเช้าก็ไปกู้รัน เราจะรู้ว่ารันไหนมีปลาไหลหรือไม่ ก็ในทันทีที่ยกรันขึ้น ถ้ามีหลาไหลอยู่ น้ำที่ไหลจากรันตอนที่ยกรันขึ้นจากน้ำจะเป็นช่วงและมีเสียงดัง
เมื่อในนาข้าวน้ำเริ่มใสแล้ว มีปลามากมายหลากหลายชนิด ใครใคร่หาจับปลาอย่างไรก็ตามวิธีถนัดของตนเอง
การหาปลาในนาข้าว มีหลายๆวิธี ได้แก่ การปักเบ็ด การดักลอบ การดักซ่อน
1. การปักเบ็ด ใช้ไม้ไผ่เหล่าเป็นคันเบ็ด ดัดให้โค้งและอ่อนตัวด้วยการลนไฟอ่อนๆ เสร็จแล้วจึงผูกสายและติดเบ็ด และที่เกี่ยวเก็บเบ็ดตอนที่ไม่ใช้งาน วิธีปักเบ็ดและแหล่งที่จะปักเบ็ดนั้นขึ้นกับชนิดของปลา ที่เราต้องการจะได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องใช้เท้ากวาดดินใต้น้ำให้เรียบก่อนทุกครั้ง จึงจะได้ผลดี
1.1 การปักเบ็ดปลาช่อน ปลาหมอ มักจะปักในพื้นที่ที่มีน้ำใสค่อนข้างลึกสักหัวเข่าขึ้นไป การกวาดพื้นที่ใต้น้ำสำหรับปลาช่อนนั้นจะต้องเรียบและกว้างกว้าปลาหมอ
1.2 การปักเบ็ดปลาดุก มักจะเลือกพื้นที่ที่มีหญ้าน้ำรกๆ น้ำใสและไม่ลึก โดยเฉพาะถ้าเป็นนาใหม่จะมีปลาดุกชอบมาอาศัยมากที่สุด
2. การดักลอบ วิธีนี้จะดักในทางน้ำไหล โดยการกั้นเฝือกหน้าทางน้ำไหลหรือใต้ทางน้ำไหล ยิ่งเฝือกยาวก็จะดี ทั้งหน้าเฝือกและหน้าลอบดักปลาจะต้องอัดหญ้าให้แน่น ถ้าไม่อัดหญ้าแล้วก็รับรองว่าจะไม่ได้ปลาแน่นอน และที่ปากลอบให้ใช้โคลนทาไว้ด้วย
3. การดักซ่อน ซ่อนเป็นเครื่องมือจับปลาที่ให้ปลาเข้าได้แต่ถอยหลังไม่ได้ ไม่ต้องมีงาเป็นเพียงไม้ไผ่สานรูปกระบอกมัดที่ด้านท้ายเท่านั้น ใช้วางดักปลาในทางน้ำไหลหรือรูน้ำไหล จะได้ผลดีในหน้าหนาว ถ้าเป็นทางน้ำไหลแบบตกลงจะได้ปลาดุก ถ้าเป็นทางน้ำไหลแบบไหลลงธรรมดามักจะได้ปลาช่อนและปลาหมออัดกันจนแน่นซ่อน