วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550

วิถีชนบทไทย(๒)

สำหรับนาดำนั้น ก็ต้องรอตากดินจนกว่าฤดูทำนาจะมาถึงจริงๆ แต่จะต้องปลูกกล้าข้าวไว้ใช้ดำนา เริ่มจากการกักน้ำไว้ในแปลงนาที่จะทำแปลงกล้าข้าว โดยไถดินและไถซ้ำ (ไถสอด) หลังจากนั้นจึงคราดเอาหญ้าออก แล้วจึงจะปรับพื้นที่ด้วยขลุบ จะได้ยินเสียงขลุบตีน้ำและดินดังแต่ไกล[เทือกนา] ช่วงนี้เด็กๆ มักจะเดินตามผู้ใหญ่ไปด้วย คอยจับปลาและกบที่กำลังงง เมื่อแล้วเสร็จทิ้งไว้บ่ายๆก็หว่านข้าวกล้าได้ที่ได้เตรียมพันธุ์ไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ก่อนที่จะเอามาหว่านก็จะต้องนำข้าวพันธุ์ใส่กระสอบแช่น้ำไว้สัก ๑ คืนก่อนจึงเอามาหว่านได้ หลังจากหว่านแล้วให้ทิ้งไว้ ๑ คืน ก็ต้องไขน้ำออกจากแปลงข้าวกล้า ช่วงนี้ก็ต้องระวังพวกนกพวกหนูไม่มากวน หลังจากนั้นอีก ๑๐-๑๕ วันจึงจะไขน้ำเข้ามาในแปลงกล้าข้าวได้ กล้าข้าวที่จะนำไปปลูกได้ ควรจะมีอายุไม่น้อยกว่า ๒๕ วัน
ช่วงระหว่างรอฤดูฝนที่จะมาจริง ชาวนาจะต้องทำการซ่อมคันนาอุดรอยรั่วที่เกิดจากหนูและปูให้เรียบร้อยหรืออาจจำเป็นต้องเสริมคันนาให้สูงขึ้น ถ้าเป็นคันนาสูงๆ ก็ต้องใช้พลั่วยาวและมีที่เหยียบสำหรับเวลาแทงดิน แต่ถ้าเป็นคันนาเตี้ยๆก็นิยมใช้จอบและเสียมก็เพียงพอ สำคัญอยู่ที่การเรียงดินที่เสริมขึ้นมา ต้องเรียงให้เป็นระเบียบและห้ามคนขึ้นไปเดิน บางรายก็ใช้หนามคลุมไว้ก็มี นอกจากนั้นชาวนาต้องใช้เวลาช่วงนี้ออกหาเสบียงไว้สำหรับฤดูทำนา เพราะเมื่อถึงเวลานั้นมาถึง ชาวนาจะไม่มีเวลาไปหาปูหาปลาหรือแม้กระทั่งขึ้นไปเก็บหน่อไม้บนเขา
ช่วงเวลานี้เช่นกัน ที่เป็นช่วงเวลาของการขุนวัวควายให้อ้วนพี ด้วยหญ้าระบัดที่งอกงามจากน้ำฝนตามคันนาที่ถูกเผาไปเมื่อหน้าแล้ง และหญ้ากลางนาที่งอกงามจากเบี้ยที่หลงเหลืออยู่จากหน้าแล้ง ประกอบกับน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์ หน้านี้จึงเห็นปลักควายอยู่ทั่วไปตามท้องทุ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: