วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

น้ำท่วมปี 2554


น้ำท่วมปี 2554
       ณ วันนี้ 1 พฤศจิกายน  2554 คนกรุงเทพฯ อยู่ในภาวะตึงเครียดกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะคนที่อยู่ชั้นใน (เพราะกรุงเทพฯ ชั้นนอกน้ำได้ท่วมไปแล้ว หลังจากที่อดทนรอว่า น้ำจะท่วมหรือไม่ และ เมื่อไร..แบบมืดมนจริงๆ.บางเขน จตุจักร มีนบุรี ลาดกระบัง และฝั่งธนบุรีที่หนักที่สุด ตอนนี้) น้ำบางส่วนข้ามถนนรามอินทรามาบ้างแล้ว แต่เป็นแบบค่อยๆมา เหมือนๆกับไม่น่าจะท่วม แต่ก็ท่วม...อธิบายอะไร ได้แค่นี้ คือ ภาวะนี้ ไม่รู้ว่า จะมีน้ำมาหรือไม่ เหมือนน้ำมันหยุดนิ่ง แต่ก็ท่วมโครมๆ ในฝั่งธนบุรี แต่ก็มีข่าวประปรายบ้างในย่านตะวันออก เอ...เอาเป็นว่า ไม่มีใครตอบได้ ก็แล้วกัน
ปรากฎการณ์แบบนี้ มันไม่น่าจะเกิดขึ้นในยุคที่วิทยาศาสตร์เราก้าวหน้ามากๆ แบบอธิบายได้เป็นฉากๆ
         ความผิดพลาดครั้งนี้ ใหญ่หลวงมากๆ เริ่มต้น จะไม่ขอกล่าว แต่อยากจะอธิบายในสิ่งที่น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า
เช่น หลักการของฝายน้ำล้น..

         น้ำเหนือบ่ามา ทุกๆเขตและจังหวัด ได้ช่วยกันสร้างเขื่อน เพื่อหวังว่าเขื่อนจะกั้นไม่ให้น้ำท่วม พื้นที่ เขต อำเภอ หรือจังหวัดของตน โดยลืมเสียสิ้นว่า
        เขื่อนมีคุณสมบัติเก็บกักน้ำให้ได้ปริมาณมากๆ เขื่อนเป็นสิ่งก่อสร้างถาวรที่ต้องมีความแข็งแรงมากๆ เพียงพอต่อการรับแรงกดดันของน้ำตามปริมาณที่เก็บกักไว้
         ภาพที่เห็นด้วยตาตนเอง และในทีวี...เขื่อนดิน (เหลวๆ) กับ กำแพงถุงทรายที่พยายามสร้างให้สูงที่สุด (เพื่ออะไร...กัน) พังทลายลงมา (อย่างที่มัน..จะเป็น) เมื่อน้ำไหลจากที่สูงกว่ามาสะสมกันจนระดับสูงขึ้นๆ (ความจริง ถ้ากำแพงที่สร้างทนได้ น้ำน่าจะสูงได้สัก 60 เมตร) แรงดันมหาศาลก็ทะลายกำแพงกั้นน้ำนั้นลงมา
        แต่ที่ประหลาดใจ..ก็คือ..ทุกๆ พื้นที่ ได้พยายามสร้างเขื่อนกั้นน้ำขึ้นมาให้สูงเท่าที่จะทำกันได้ และก็เป็นไปอย่างที่มัน..จะเป็น คือ เขื่อนแรกพัง...เขื่อนต่อมาก็จะพังต่อๆไปแบบโดมิโน

        มันเป็น อย่างที่มันจะเป็น เขื่อนแรกกั้นน้ำไว้มากเข้าๆ จนแรงดันของมวลน้ำถึงจุดที่พังเขื่อนได้ น้ำก็ทะลักรุนแรง เพราะได้สะสมพลังงานไว้มากมาย เมื่อมาถึงเขื่อนต่อมา พลังงานที่สะสมไว้ยังไม่หมด แถมน้ำยังถูกบังคับให้สะสมพลังงานต่อไป เขื่อนชั้นต่อๆไป จึงหมูเหลือเกิน ..เราจึงเห็นสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 เป็นอย่างที่มันเป็น
        ฝายน้ำล้น มีความมุ่งหมายที่จะชะลอน้ำให้ลดความรุนแรงและมีน้ำกักเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น ในกรณีของปี 2554 ถ้ากลับไปแก้ไขได้ หลักการฝายน้ำล้นจะมีประโยชน์มากที่สุด แต่..ท่วมน่ะ ท่วมแน่ หวังว่า คงไม่รุนแรงอย่างนี้
       แทนที่จะสร้างเขื่อน ก็มาสร้างฝายน้ำล้นแทน โดยกำหนดให้สร้างคันน้ำล้นของจังหวัด/พื้นที่ให้ลดหลั่นกันลงมาตามระดับความสูงต่ำของพื้นที่และความลาดชัน ทุกๆพื้นที่ ยอมให้มีน้ำสูงได้ โดยไม่สร้างความเดือดร้อน เช่น จุดนี้สร้างคันน้ำล้นสูง 1 เมตร จุดต่อมา สูง 70 เซนติเมตร เป็นต้น

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กรุงเทพจะท่วม..ไม่ท่วม

    วันนี้ มีประกาศทางทีวี แจ้งการเพิ่มช่องทางการระบายน้ำลงทะเลเพิ่ม โดยให้ไหลผ่านทางคลองพระโขนง..เพื่อช่วยระบายน้ำด้านตะวันออกและด้านตะวันตกที่เปิดประตูระบายน้ำมาตั้งนานแล้ว
     เอ..มันจะทันการณ์ไหมนี่!!!!
     อยากขอบคุณ กทม.เหมือนกัน ถ้ายอมให้มีการระบายน้ำ (ช่วย) เสียตั้งแต่เนิ่นๆ ความเสียหายทางด้านบน คงไม่มากขนาดนี้
     ทีนี้..ก็..เป็นปัญหาล่ะ ว่าปริมาณน้ำจะสูงเท่าไหร ถ้าเกินพนังกั้นน้ำละก็...ป่อมแป่ม..แต่ที่แน่ๆ ชุมชนหลายๆชุมชนน้ำต้องท่วม ไม่มากก็น้อย
     ที่นี้ก็รอ..รอ..อย่างเดียว หวังว่า ไม่เป็นเช่น นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ที่แม้แต่คน ยังอพยพไม่ทัน...

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ฤา ถึงครา..น้ำจะท่วมกรุงเทพหรือไร

วันนี้ ก็ 9 ตุลาคม 2554
     มีผู้คนที่เกิดมานานหลายๆ สิบปี เปรียบเปรยปริมาณน้ำของปีนี้ว่า หนักหนาสาหัสกว่าทุกครั้งที่ผ่านๆมา นับเป็นสถิติที่ ถึงอย่างไร..ก็ต้องบันทึกไว้ เพราะจะได้จำไว้เป็นบทเรียน ชาวบ้านตากให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า "น้ำปีนี้มากที่สุดนับแต่สร้างเขื่อนภูมิพลมา" และมีชาวบ้านอีกหลายๆจังหวัดทั้งพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อยุธยา
     วันนี้ก็อยากพูดถึง นครอโยธยาในความรู้สึกของชาติตะวันตกที่ย้อนกลับไปครั้งอโยธยาเป็นราชธานี รายการของทีวีช่อง..ไม่ได้สังเกต
     ผู้คนในนครอโยธยา อยู่กันอย่างเรียบง่าย สร้างบ้านไม้อยู่ในสระน้ำ แต่มั่นคงแข็งแรง ตัวเรือนโปร่งอากาศพัดผ่านทำให้เย็นสบาย มีพื้นที่ส่วนกลางเป็นที่ส่วนรวมของครอบครัว ง่ายต่อการทำความสะอาด ชีวิตของคนอยุธยาจะเดินทางโดยเรือ ทุกๆบ้านจะมีเรือของตนเอง ผู้คนในอโยธยาศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า วัดแต่ละแห่งถูกสร้างอย่างวิจิตรอยู่ทั่วไป ความสวยงามของวัดวาอารามและบ้านเรือนที่มีการสัญจรทางน้ำเหมือนๆกับเมืองเวนิส อโยธยาจึงได้ชื่อว่า เวนิสตะวันออก...เสียดายที่ผมยังหารายการทีวีย้อนหลังยังไม่เจอ
     ย้อนกลับมา..ที่สถานการณ์น้ำ ณ เวลานี้ มีคำเตือนอุทกภัยจากทางราชการแล้ว สำหรับคนกรุงเทพ ผมอยู่พระโขนง ที่มีระดับพื้นดิน คือ สุขุมวิท ที่ 0.00 ม. เที่ยบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) นั่นหมายความว่า ถ้าไม่มีพนังกั้นน้ำ ในยามปกติทั่วๆไป สุขุมวิทจะมีน้ำท่วมตามการขึ้น-ลงของน้ำทะเล ณ เวลานี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง คือ อยู่ที่ +2 เมตร ที่ถูกต้องก็คือ เราอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ 2 เมตร อือ...น่าคิด
     ผมไม่โทษใครหรอก ถ้าน้ำท่วมกรุงเทพ หรือที่ไหนๆก็ตาม เพราะเป็นผลพวงจากอดีต ที่แม้แต่ผมเองก็มีส่วนทำให้น้ำท่วม เพราะ
  • เพราะสมัยเด็กประมาณ ป.2 ผมก็เข้าป่าไปทำถ่านที่ป่าละเมาะข้างบ้าน เอาถ่านไปขายให้คุณครูปีบละ 1.50 บาท มีเงินออมสำหรับไปซื้อหนังสะติ้ก และยังเหลือไว้ซื้อข้าวเกรียบว่าวหรือก๋วยเตี่ยวในวันสงกรานต์อีก
  • นอกจากนั้น กลุ่มนักแม่นหนังสะติ้กยังมีการจุดไฟไล่กระรอกกระแตให้ออกมาจากโพรงหรือพุ่มไม้ ให้มาเป็นเหยื่อหนังสะติ้กอีก
      อย่างไรก็ตาม เราก็ยังมีป่าละเมาะที่มีเห็ดหอบ เห็ดขอนไว้เก็บเป็นอาหารตามฤดูกาล
  • โตขึ้นอีกนิด มีการเผาป่าเพื่อทำนา อันนี้ทำให้ป่าชายทุ่งและรอบๆบ้านค่อยๆหายไป จนในที่สุด เด็กๆก็ไม่มีป่าให้ยิงนกหรือเก็บลูกตับเต่า หรือแม้กระทั่งเป็นที่เลี้ยงความในยามฤดูทำนาอีกต่อไป กป่าไปเป็นนา 
  • เราได้ใช้ธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย นั่นคือ การทำลายธรรมชาติทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ จนกระทั่งถึงวันนี้ ธรรมชาติเป็นไปตามครรลองของมัน เมื่อมีผลบวก ธรรมชาติก็มีผลลบเช่นกัน 
  • ที่จะไม่กล่าว ไม่ได้เลย เราเหยียบแผ่นดินอยู่ทุกวันนี้ แผ่นดินคงจะหนักน่ะ... 

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

พยากรณ์อากาศพิษณุโลก


พยากรณ์อากาศพิษณุโลก
สภาพอากาศปัจจุบัน  
 ณ เวลา 22:00 น.

27.5 °Cพิษณุโลก
จุดน้ำค้าง25.4°C
ความชื้นสัมพัทธ์88 %
ลมลมสงบ
เมฆมีเมฆมาก
ทัศนวิสัย10 กม.
ความกดอากาศ1006.7 hPa
ฝน 3 ชม.เล็กน้อยวัดไม่ได้
พระอาทิตย์ขึ้นเช้าพรุ่งนี้06:07 น.
พระอาทิตย์ตกเย็นวันนี้18:14 น.
อุณหภูมิสูงสุดวานนี้33.5°C
อุณหภูมิต่ำสุดเช้าวันนี้26.0°C
ฝนสะสมวันนี้0.3 มม.


24 ชั่วโมงที่ผ่านมา | ค่าเฉลี่ย 30 ปี 26 กันยายน 2554
พยากรณ์อากาศ 7 วัน 


วันนี้
26/09
พรุ่งนี้
27/09
พุธ
28/09
พฤหัสบดี
29/09
ศุกร์
30/09
เสาร์
01/10
อาทิตย์
02/10

ฝนฟ้าคะนอง
33 °C
25 °C
ฝนฟ้าคะนอง
ฝน 40% ของพื้นที่

ฝนฟ้าคะนอง
33 °C
25 °C
ฝนฟ้าคะนอง
ฝน 50% ของพื้นที่

ฝนฟ้าคะนอง
33 °C
25 °C
ฝนฟ้าคะนอง
ฝน 50% ของพื้นที่

ฝนฟ้าคะนอง
33 °C
25 °C
ฝนฟ้าคะนอง
ฝน 50% ของพื้นที่

ฝนฟ้าคะนอง
33 °C
25 °C
ฝนฟ้าคะนอง
ฝน 50% ของพื้นที่

ฝนฟ้าคะนอง
33 °C
25 °C
ฝนฟ้าคะนอง
ฝน 50% ของพื้นที่

ฝนฟ้าคะนอง
33 °C
25 °C
ฝนฟ้าคะนอง
ฝน 40% ของพื้นที่



7 วันที่ผ่านมา

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

พิษณุโลกระกำ

    ถึงครา พิษณุโลกระกำ...เพราะพนังกั้นน้ำของแม่น้ำวังทองไม่สามารถทนทานต่อปริมาณน้ำที่หลากมาจากลุ่มน้ำเข็กหรือเทือกเขาเพชรบูรณ์นั่นแล ฝั่งซ้ายของลำน้ำวังทองนั้นไม่ต้องพูดถึง แตกกระจายเป็นหนที่ 3 แล้ว ก็นับว่าหนักหนาสาหัสประกอบกับการสร้างถนนเลียบแม่น้ำบ้าง ทำชลประทานขวางทางน้ำบ้าง หมู่บ้านทั้งหลายตอนนี้จึงเหมือนเกาะๆหนึ่ง และจะเป็นเช่นนี้ต่อไป หากไม่มีการแก้ไข และประดาน้ำก้อนนี้ก็ไม่สามารถระบายได้ เพราะหากระบายตามพื้นที่ราบละก็ ตัวเมืองพิษณุโลกจะรับเต็มๆ ครั้นจะระบายลงแม่น้ำน่านก็ไม่ได้ เพราะล้ำน้ำน่านหรือก็ล้นเหลือล้น รอเวลาไหลล่องไปยังนครสวรรค์
   ตอนนี้ลำน้ำฝั่งขวาของลำน้ำวังทอง ก็พังแล้วเช่นกัน เพียงแต่เป็นจุดเล็กๆที่สามารถระบายให้ล่องไปกับคลองต้นน้ำ ไหลล่องไปท่วมทางใต้ เช่น บางกระทุ่ม พิจิตร ขณะนี้..ก็...รอเพียงอย่างเดียว ว่าพนังกั้นน้ำลำน้ำวังทองใต้ลงมา มีหลายจุดที่กำลังจะพัง มีชาวบ้านรวมใจช่วยกันรักษาคูค่ายอยู่ ว่าจะทนทานได้นานสักเพียงใด ถ้าไม่มีน้ำมาเพิ่มเติม ก็...ยังพอมีความหวัง แต่...ถ้าไม่ไหว แน่นอนตัวเมืองพิษณุโลก รับเต็มๆ
   ส่วนคนพื้นล่าง..ใต้พิษณุโลกลงมา..แน่นอนน้ำเหนือครานี้ รุนแรงมาก..มากกว่าที่เคยมีมาแน่นอน

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

น้ำท่วมวังทอง

   สภาพน้ำท่วมบ้านเรือนในเขต อ.วังทองพิษณุโลก

      ไม่ใช่จับปลานะภาพนี้ แต่เป็นภาพที่ชาวนาช่วยกันช้อนข้าวเปลือกที่ตากแห้งไว้บนถนน เพราะนาน้ำท่วม แต่ก็ไม่พ้นน้ำระลอกที่ 2
      สาเหตุน้ำท่วม มาจากน้ำที่หลากมาจากลำน้ำเข็กของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะมีการทำพนังกั้นน้ำสูง 1 เมตรจากระดับตลิ่ง แต่ปริมาณน้ำที่มากและไหลเร็ว (ไม่มีป่าไม้ชะลอน้ำ...อีกแล้ว) ที่ซ้ำหนัก ก็คือระบายลงลำน้ำน่านไม่ได้ นอกจากระบายไม่ได้แล้ว น้ำในลำน้ำน่านยังหนุนขึ้นมาอีก ท่วมจ้า...
     เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก น้ำที่หลากมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ จะท่วมล้นตลิ่งแม่น้ำวังทองจริง แต่น้ำจะมาอย่างช้าๆ เรียกว่า รู้ว่าน้ำล้นตลิ่ง น้ำจะมาถึงก็อีกหลายชั่วโมง ยิ่งถ้าเป็นน้ำจากเทือกเขาโดยตรงนี้ ..ก็หลายวันกว่าจะมาถึง
     แต่ชาวบ้าน..ไม่ได้เป็นทุกข์เป็นร้อนกันนัก เว้นแต่รายที่ข้าวยังเล็กมากๆ ประเภทยืดลำต้นไม่ทันน้ำ ประเภทนี้ข้าวจะตายได้ แต่โดยทั่วๆไป ข้าวหนีน้ำได้อยู่แล้ว แล้วก็ท่วมไม่เกินอาทิตย์สองอาทิตย์
     ดีเสียอีก ที่ได้จับปลาที่มากับน้ำหลาก เตรียมเสบียงไว้ยามหน้าเกี่ยวข้าว
     เด็กๆ หรือ เป็นที่สนุกสนานเขาล่ะ เพราะได้เล่นน้ำตามคันนาและท้องนา แต่ขอโทษ เถอะ น้ำที่หลากมาในสมัยนั้น เชื่อหรือไม่ ว่า ใสจนเห็นตัวปลา เวลาอาบน้ำ เขาก็อาบน้ำในท้องนากันนี่แหละ ไม่ต้องไปอาบในห้องน้ำหรือในโอ่งหรอก เพราะน้ำในโอ่ง เขามีไว้กิน

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

บางระกำ ถึง ลุ่มน้ำำเข็ก

    วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม ก็ได้ทราบว่า ที่ราบลุ่มแม่น้ำเข็ก (แม่น้ำวังทอง พิษณุโลก) น้ำท่วมเพราะพนังกั้นน้ำไม่ไหว ที่ราบลุ่มแม่น้ำเข็กรับน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์เป็นที่ราบลาดเทเข้าหาตัวจังหวัดพิษณุโลก ลงแม่น้ำน่านที่เมืองพิษณุโลก ปริมาณน้ำขนาดมหาศาล มากที่สุดเท่าที่เห็นคนที่เกิดมากว่า 50 ปี แน่นอนปริมาณน้ำนี้รวมกับน้ำจากลำน้ำยม ท่วมดาดเข้าพิจิตร (บางระกำ น่ะไม่ต้องพูดถึงแล้ว ในตอนนี้) เข้านครสวรรค์ แน่นอนว่าที่ลุ่มภาคกลางจะทนรับน้ำไว้ได้นานสักเท่าใด ครานี้ ก็จะระกำกันไปทั่ว แต่กรุงเทพจะเป็นอย่างไร ก็ไม่แน่ใจ ถ้าเดือนตุลาคม -พฤศจิกายน น้ำยังไม่ซา ก็จะเจอวิกฤติจากน้ำเหนือกับน้ำทะเลหนุน กทม. จะรอดไหม

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

เสียงจากคน บางระกำ

เมื่อวาน (3 สิงหาคม) ได้ฟังการสัมภาษณ์ ชาวบางระกำ ว่า อยากให้ทางราชการช่วยเหลืออย่างไร คำตอบ ที่ผมได้ยินนั้น ผมยอมรับว่า เกินความคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้ มีคำพูดที่แสดงถึงความน้อยเนื้อต่ำใจของชาวบางระกำว่า ข่าวน้ำท่วมสุโขทัย นั้นดังไปทั่วประเทศ ส่วนราชการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ น้ำท่วมบางระกำ ซึ่งหนักหนาสาหัสกว่าและก็เป็นเช่นนี้มาตั้งนานแล้วเรียกว่าตั้งแต่เกิด กลับไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ทั้งๆที่ ถ้าน้ำท่วมบางระกำ พื้นที่ตอนล่างลงไป เช่น โพทะเล โพธิ์ประทับช้างของพิจิตรก็ต้องท่วมเช่นกัน สิ่งที่ชาวบางระกำต้องการนั้น เพียงแต่ ขอให้ชะลอน้ำไว้สักระยะหนึ่ง รอให้เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ จะท่วมก็ไม่ว่ากัน ส่วนบางระกำโมเดล ยังไม่รู้ว่า จะทำอย่างไร แต่..ก็มีความคิดว่า แม่น้ำสายหลักอื่นๆ เขามีเขื่อนชะลอน้ำกันทั้งนั้น มีแต่น้ำยมนี่แหละ ที่ยังไม่มีเขื่อน ถ้ามีเขื่อนก็จะช่วยลดการเกิดน้ำท่วมและยังมีน้ำสำหรับการเกษตรในฤดูแล้งอีกด้วย...โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น..?

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บางระกำ ฤาจะระกำต่อไป

บางระกำ ฤาจะชอกช้ำระกำใน

ณ วันนี้ ขอพูดถึงบางระกำ พิษณุโลกบ้าง เพราะเห็นด้วยกับการใช้บางระกำเป็นต้นแบบ (Model) ของการป้องกันและบรรเทาทุกข์จากน้ำท่วม ที่ว่าเห็นด้วยเพราะอะไร? จะบอกกล่าวในภายหลัง แต่ก็ติดใจอยู่ว่า บางระกำโมเดล ทำอย่างไรนั้น จะไม่ขอกล่าว เพราะไม่รู้เหมือนกัน

เริ่มเมื่อตอน เริ่มจำความได้ สักสองพันห้าร้อยสิบนิดๆ จะมีกองเกวียนชาวบางระกำรอนแรมกันมาพักในหมู่บ้าน แล้วจะมีคนหาบคอนปลาแห้งมาแลกเปลี่ยนกับข้าวเปลือก พ่อและพี่ๆจะเอาข้าวเปลือกถังสองถังแลกกับปลาแห้ง 3-4 ไม้เท่านั้น เราเองเห็นว่าไม่สมกันเลย จึงถามพ่อในภายหลัง พ่อบอกว่า เขาเหล่านี้รอนแรมมาจากบางระกำ เพราะน้ำท่วมนาหมดจึงไม่มีข้าวกิน เขาจะมาขอเฉยๆ เราก็ยินดีช่วยเหลือ แต่เขาเหล่านี้มีน้ำใจ เอาสิ่งที่เขาพอมีอยู่ คือ ปลาที่หาได้ช่วงน้ำท่วม มาแลกข้าวเปลือก สิ่งเล็กน้อยนี้ ถึงแม้จะดูไม่สมน้ำสมเนื้อ แต่ถ้าดูที่ความยากลำบากและการรักษาเกียรติภูมิของเขาแล้ว มีค่าทัดเทียมกัน ฉะนั้นในเกือบทุกๆปี เราจะพบกองเกวียนชาวบางระกำ

ชาวบางระกำ ส่วนใหญ่เป็นผู้เคลื่อนย้ายมาจากเพชรบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรีและนครสวรรค์ เหมือนๆกับคนรอบนอกของพิษณุโลก ใช้ภาษาเดิม เช่น ไทยกลาง ไทพวน ไทดำและไทยราชบุรี

บ้านของเราอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำน่านซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเทลาดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ลงสู่ตัวจังหวัด น้ำหลากเกิดจากอิทธิพลของลำน้ำเข็กที่จะท่วมบ้างก็เฉพาะเขตบางกระทุ่มที่เป็นที่ราบลุ่ม อีกฟากของลำน้ำเข็กได้รับอิทธิพลจากลำน้ำเจ็ดแควกับน้ำจากเทือกเขาด้านชาติตระการ แต่ทุกวันนี้ มีเขื่อนเจ็ดแคว โครงการของในหลวง ทำให้บรรเทาภาวะน้ำท่วมได้ และพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวง

บางระกำ เป็นอำเภอฝั่งซ้ายมือของแม่น้ำน่าน เป็นพื้นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมเกิดจากการได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำน่าน แม่น้ำยมและน้ำป่าจากเขาหลวงและเทือกเขาจากอุตรดิถต์ ลำพังลำน้ำน่านไม่ได้มีอิทธิพลให้เกิดน้ำท่วมโดยตรง แต่นอกนั้นแล้วบางระกำจะรับน้ำเต็มจากแม่น้ำยมและน้ำหลากจากเทือกเขา ฉะนั้น ถ้าสุโขทัยระทม บางระกำก็จะชอกช้ำระกำในยิ่งกว่า และจะระกำลึกและสาหัสยิ่ง ถ้าไม่สามารถระบายน้ำลงลำน้ำน่านได้

ที่นี้มาพูดถึง บางระกำโมเดล บางระกำโมเดลคงจะหมายถึงการใช้วิธีการในการป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมของบางระกำไปเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่น้ำท่วมแห่งอื่นๆ กระมัง ทำอย่างไร ยังไม่รู้

แต่ที่..มีข้อคิดเห็นส่วนตัว คือ ลำน้ำยม เป็นแม่น้ำหลักสายเดียว (ปิง วัง ยม น่าน) ที่ยังไม่มีระบบชลประทาน และน้ำก็ท่วมจนสุโขทัย (เหลือ) ระทม กับ บางระกำ (ที่ชอกช้ำระกำนอกระกำในมาชั่วลูกชั่วหลาน)

แล้ว โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีคนคัดค้านมากมาย เหมือนกับว่า การทำอะไรก็ตามนั้น ได้มาฟรีๆ ทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง อยากกินข้าวผัดกระเพรา เราก็ต้องจ่ายเงินให้พ่อค้า หรือ เราอยากได้ของเขาฟรีๆ เราก็ยังต้องไหว้วอนเลย ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยไม่เสียอะไรเลย ที่หนักกว่านั้น ก็คือ เราลืมกันไปเสียแล้วหรือว่า พระเจ้าแผ่นดินและเจ้าเหนือหัว พระองค์ท่านเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้ หรือแม้แต่หัวของตัวเองก็ยินดีถวายให้กับพระองค์ท่าน แต่ทุกวันนี้ เป็นอย่างไรกันเสียแล้วหรือ!

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เลียบเลาะชายทุ่ง

ทุ่งนา แต่เมื่อก่อน ไม่ได้เป็นทุ่งเลี่ยนโล้นเหมือนกับท้องทุ่งในสมัยนี้ อย่างน้อยก็มี ป่าละเมาะ ป่าไผ่หรือไม้ยืนต้น พอให้เป็นร่มเงากับคนเดินทางหรือทำรังของฝูงนกประจำถิ่น ยามเย็นสัก 5 โมงเย็น จะมีนกบินโฉบเฉวียนออกพุ่มนี้ไปพุ่มโน้น ส่งเสียงให้เจี้ยวจ้าว บ้างก็ทะเลาะหรือเกี่้ยวพาราสีกันก็ไม่แน่ใจ แต่บ่งบอกได้เพียงว่า ได้เวลากลับรังของนกทั้งหลาย ป่าละเมาะริมชายทุ่งนี้เอง เป็นแหล่งอาหารสำคัญของทั้งคนและสัตว์คนไหนช่างสังเกตุหรือมีคนนำ ก็จะได้หน่อไม้ เห็ดหอบ เห็ดเผาะ หรือ มังลอกเอาไปทำอาหาร ป่าละเมาะริมชายทุ่งจะผลิตอาหารแต่ละชนิดให้กับท้องถิ่นไปตามฤดูกาลของมัน ป่าละเมาะริมชายทุ่งไม่ใช่ให้เฉพาะอาหารเท่านั้น มันเป็นมากกว่านั้น เป็นแหล่งหาไม้ทำรั้วหรือทำฟืน เป็นที่เลี้ยงสัตว์ในยามที่นายังมีต้นข้าวอยู่ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกื้อกูลกันทั้งมองเห็นและทั้งที่เราไม่ตระหนักถึง รวมทั้งการรักษาระดับน้ำใต้ดินด้วย
ทุกวันนี้ คนได้เล็งเห็นความสำคัญของป่าละเมาะ ที่เรียกกันใหม่ว่า ป่าชุมชน (หลังจากที่ป่าได้ถูกทำลายไปเกือบไม่เหลือซากพร้อมๆกับการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์อีกหลายชนิด) จะช้าไปบ้าง สำหรับชุมชนส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่สายเกินไปสำหรับอีกหลายๆชุมชน

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หอยกาบกับวิถีคนชายคลอง

วันนี้..ไม่ได้พูดหยาบ เพียงพูดถึง หอยกาบที่มีอยู่ทั่วไปตามคลองและแม่น้ำ เมื่อสมัยก่อนๆ ที่ต้องย้ำว่า สมัยก่อนๆ เพราะว่า ทุกวันนี้ คุณจะหาหอยกาบได้ยากมาก หอยกาบ เป็นหอยน้ำจืดมีขนาดออกจะเขื่องกว่าหอยลาย แต่เล็กกว่าหอยแมงภู่ หอยกาบนั้น ดูจะไม่คุ้มค่ากับการนำมาทำอาหารสักเท่าไร ถ้ามีปลาหรืออาหารอย่างอื่นที่ง่ายกว่า เพราะหอยกาบมีเนื้อน้อย ถามว่ารสชาดเป็นอย่างไร หอยกาบก็หอม อร่อยกว่าหอยแมงภู่แน่นอน สมัยที่แม่น้ำลำคลองยังสะอาด เด็กๆ ลงเล่นน้ำไม่เสียเปล่า หาเก็บหอยกาบที่ฝังในทราย (โผล่มานิดนึง) ตามทรายหรือเลนแม่น้ำ หรือ เลนในคลอง เอามาต้มแล้วแยกเอาเนื้อไปตากแห้ง เก็บไว้ผัดใส่ผักยี่หร่า หรือ ช้าพลูกินกับข้าวอร่อยดี เป็นที่ชื่นชอบหรืออาหารโปรดของเด็กๆ ถ้าปีไหน น้ำดีก็มีหอยกาบมาก จึงพบทั้งในหนองน้ำกลางทุ่ง ท่าน้ำริมแม่น้ำและลำคลอง แต่พอเหนือแม่น้ำมีคนอยู่อาศัยมากขึ้น หอยกาบก็ค่อยๆหายไป จนในที่สุดแม่น้ำวังทองที่รับน้ำจากลำน้ำเข็กน้อย เข็กใหญ่จากเทือกเขาเพชรบูรณ์สะอาดไม่พอเสียแล้ว หอยกาบจึงสูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำสายนี้ รวมไปถึงลำคลอง หนองบึงในทุ่งนา ก็ไม่มีหอยกาบอีกเลย เหมือนๆกับ ทุ่งนาที่ไม่มีอีกแล้วสำหรับ หอยโข่ง เพราะถูกหอยเชอรี่เบียดออก และยังถูกซ้ำเติมด้วยยาฆ่าแมลงเข้าไปด้วย 
หอยกาบ..สูญไปจากท้องทุ่งและวิถีชีวิตคนชายคลอง เหมือนๆกับหอยโข่ง หอยขวาน ไปอ่านบทความหนึ่งจึงได้ทราบว่า หอยกาบเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำได้เป็นอย่างดี มิน่าเล่า มันถึงสูญพันธุ์ไปจากวิถีชนบท ไม่ใช่ว่าเขาเอาไปทำ Indicator หรอก แต่เพราะคุณภาพของน้ำไม่ดีพอสำหรับมัน 

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สูญหายไปพร้อมกับวิถีชีวิตชนบท

ในวิถิชีวิตชนบทก่อนนั้น เราไม่ได้มีอะไรมาครอบงำหรือบงการ อยากจะไปหาใคร ถ้าจะเดินสักชั่วโมงก็ยังทำ จะรอใครสักครึ่งวัน คนรักไม่มาเช้า ก็คงมาหาตอนเย็น อยากคุยกับบ้านไหน ถ้าตะโกนแล้วรู้เรื่องกัน ก็ทำ อยากกินผัก..ก็เก็บตามริมรั้ว เนินปลวกหรือป่าละเมาะก็พอกิน ส่วนพริก มะเขือ ข่า ตะไคร้ เอาจากบ้านไหนก็ได้ ไม่อับจน เย็นลงก็พากันนั่งตามลานตากข้าวหรือแคร่ ใครผ่านไปผ่านมาก็แวะพักได้สนทนากัน ใครมีเรื่องจะไหว้วานอะไร ก็มากันเวลานี้แหล่ะ
สมัยก่อนพอหมดฤดูทำนา เดือนยี่ สาม สี่ก็หาปลาตามบึงตามหนองสำรองไว้ เดือนห้าหน้าแล้งก็ตระเตรียมหาทรายเข้าวัด ช่วยบูรณะวัดวาอาราม ซึ่งได้ทั้งบุญและได้ใกล้ชิดสาวที่หมายปอง สงกรานต์บ้านนาจึงคึกคัก ทั้งมอญซ่อนผ้า และลูกช่วง กับก่อพระเจดีย์ทราย บ่ายหลังสงกรานต์ก็เริ่มฝนแรก ก็เตรียมไถนาดะรอฝนใหญ่จึงจะไถแปร วิถีชีวิตตื่นเช้ามืด แว่วเสียงกระดึงคอวัวและควายก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ความทรงจำดีๆ หรือรำลึกถึงความหลัง! แก่ตัวลงมั้ง! ตามแต่จะเรียก ยามจะหวนรำลึก ให้รู้สึกเสียดาย แม้เราเอง มันก็นานพอควร โดยเฉพาะ เมื่อตัวเราเองก็ตกอยู่ในห้วงของสังคมปัจจุบันมาหลายสิบปี หลายหลากสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลยสักนิดของคนในอดีต แต่ทุกวันนี้กลับเป็นสิ่งสำคัญอย่างขาดไม่ได้ ดูง่ายๆ แค่โทรศัพท์มือถือ ลืมไว้ที่บ้านสักวันเป็นไม่ได้เลย ทั้งๆที่ บางวันก็ไม่ได้โทรหาใครหรือรับสายใครเลย ความจะใช้มันแทรกซึมเข้าไปสู่เบื้องลึกของจิตใจ เปลี่ยนเราไปหมดทั้งพฤติกรรมและหัวใจของเรา แค่โทรไปหาใครสักคน แต่ปล่อยในรอสายสัก 2 ตื้ด (โดยเฉพาะภรรยา) ให้อารมย์เสียขึ้นมาเลย จนบ่อยครั้งต้องถามใจตัวเองเมื่อรู้สึกเช่นนั้นว่า "มันสำคัญนักหรือ" ก็พอบรรเทาลงได้

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

ฝนเดือนห้า

ปีนี้..2554 มีฝนมาเร็วกว่าทุกๆ ปี จริงหรือ
    ถ้าตอบในฐานะคนรุ่นเก่าๆ ก็คงจะบอกว่า เมื่อตอนเรายังเป็นเด็ก หรือแม้กระทั่งโตแล้วก็ตาม หลังสงกรานต์จะมีฝนตกลงมาเสมอๆ เรียกว่า ฝนเดือนห้า จากนั้นก็จะห่างไปสักเดือนจึงจะมีฝนใหญ่อีกครั้ง เป็นพายุฝนฟ้าคะนอง พัดเอาดอกจาน (ทอง, ทองกวาว) ดอกอินทนิลพร้อมกับกิ่งไม้เกลื่อนทุ่ง แต่ที่แย่หน่อยก็คือ ลูกนกที่พัดตกจากรัง หรือ กิ่งไม้ที่มันทำรังนั้นหักโค่นลงมา ตัวไหนที่เก็บเอามาเลี้ยงรอดก็ดีไป ชาวบ้านก็พลอยได้เก็บหอย กับ หาขอเกี่ยวกบออกจากรูกัน
    ปีนี้..ก็เช่นกัน ฝนตกช่วงหลังสงกรานต์ ถ้าไม่นับพายุฝนฟ้าที่ทำเอาท่วมภาคใต้ (จริงแล้ว ภาคใต้ก็จะท่วมช่วงนี้เช่นกันในทุกๆปี แต่ปีนี้สาหัสกว่า ตรงที่มีดินถล่มเพราะต้นไม้ธรรมชาติ..มันหายไปจากป่า) นกในป่าคอนกรีตของผม มันก็มาอาศัยรังเดิมของมันเมื่อปีที่แล้ว ที่ผมเอากระเช้าของขวัญมาห้อยไว้ใต้กันสาดชั้น 4 เผื่อว่าจะได้เป็นร่มอาศัยให้กับนกบ้าง และก็เป็นจริง ปีที่แล้ว นกประหลอดทุ่งคู่หนึ่ง ก็มาช่วยกันหาเศษกิ่งไม้ใบหญ้ามาทำรัง ปีที่แล้วออกไข่ 3 ใบ ได้ลูก 2 ตัว ที่เมื่อแข็งแรง แล้วก็ บินหายไปไม่กลับมาทั้งแม่ พ่อและลูก แต่ปีนี้ ช่วงเวลาเดียวกัน นกผัวเมียคู่นี้ก็กลับมาอีกครั้ง มีไข่เพียง 2 ใบ หายไป 1 ใบ จึงได้ลูกเพียง 1 ตัว นี่ก็ใกล้จะบินออกจากรังได้แล้ว
    ปีนี้กับปีก่อน และ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ฝนตกต้องตามกัน ฝนกำลังปรับเวลาเข้าวงรอบเหมือนๆกับ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เท่านั้นเอง