วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ครูกับนักเรียน

ครูเป็นคนสำคัญของโรงเรียนและของชาวบ้านเลยทีเดียว ยิ่งถ้ามีข่าวว่า จะมีครูคนใหม่มาสอนที่โรงเรียนละก็ คนทั้งหมู่บ้านจะตื่นเต้นเหมือนๆกับนักเรียนเลยไม่มีผิด บ้างก็แอบไปดู บ้างก็เอาผลไม้หรือของกินไปให้ก็มี แถมยังคอยติดตามว่าสวยไหม สอนดีไหม ดุมากไหม แต่หายากหน่อยที่จะมีครูผู้หญิง เพราะหนทางห่างไกลจากตัวเมือง ทั้งที่ความจริงก็สัก 30 กิโลเมตรเห็นจะได้ ก็ถือว่าไกลแล้ว เพราะครูจะต้องเดินทางด้วยจักรยาน กว่าจะเข้ามาถึงก็มอมแมมพอควร ด้วยว่า ถ้าเป็นหน้าฝนก็ต้องจูงจักรยานมาตามถนนดินดำที่เต็มไปด้วยหลุมโคลนที่รถโดยสารวิ่งสะเปะสะปะ บ้างก็รอยติดหล่มทั่วไป ถ้าเป็นหน้าแล้ง ฝุ่นก็ปลิวให้ฟุ้งไปทั่วตัว ครูผู้ชายมักจะใช้จักรยานฮัมเบอร์สูงๆ ครูผู้หญิงก็คันเตี้ยหน่อยแต่จำยี่ห้อไม่ได้ เพราะมีครูผู้หญิงน้อยเหลือเกิน ส่วนครูผู้ชายถ้าอยู่นานๆหน่อย ก็มักจะเป็นเขยของหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียงจะได้ไม่ต้องเดินทางไกลนัก คนที่เป็นครูนั้น ถ้าเป็นรุ่นเก่าหน่อยจะจบชั้น ป. 7 ต่อมาก็เป็น ปกศ.เตี้ย (เขาเรียกอย่างนั้นจริงๆ) หา ปกศ.สูงยากหน่อย แต่ครูมีความเป็นครูจริงๆ สอนอย่างทุ่มเท เรียกว่าแทบจะจับมือเขียนหนังสือกันเลย บางคนที่สอนยากหน่อย ครูต้องจ้ำจี้จ้ำไช สอนให้อ่านออกเขียนได้ก่อนจบชั้น ป.4 เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่เท่าที่สังเกตดู มีหลายๆคน ตอนเรียนหนังสือ อ่านไม่ค่อยออก เขียนหนังสือไม่สวยแต่พอเข้าวัยรุ่น กลับขยันอ่าน (จดหมาย) แถมยังเขียนหนังสือสวยกว่าตัวพิมพ์ดีด ก็มี ขยันเหลือเกิน (ตอนเรียน ขี้เกียจ) เขียนไปหานักจัดรายการเพลง (ยุคนั้น มีขุนพลเพลงลูกทุ่งหลายคน เป็นยุคที่เฟื่องฟูที่สุด การติดต่อสื่อสารกันและกัน มักใช้สื่อสารทางรายการเพลงจึงสะดวก แถมมีชื่อออกอากาศด้วย เรียกว่า “ออกอากาศ” นั้น ไม่ผิดหรอกนะ) ขอเพลงนี้ให้กับสาวคนนั้น ขอเพลงนั้นให้กับหนุ่มคนนี้ ด้วยถ้อยคำสละสลวยแบบสุนทรภู่กันเลย ยิ่งถ้าได้อ่านจดหมายรักละก็ ช่างหยดย้อย ด้วยโคลง ร้อยแก้ว หรือ ร้อยกรอง(แต่มักซ้ำๆกัน ตอนครูสอนไม่เคยจำได้)
ครู...สอนจริงๆ ตีจริงๆ (รวมทั้ง พ่อหรือแม่เด็กฝากให้ช่วยตีแรงๆ บ้าง ก็มี) คำว่า สอนจริงๆ นั้น ครูจะต้องสอนภาษาไทย ให้กับ เด็กๆที่พูดภาษาท้องถิ่น และ ยังไม่รู้จักภาษาไทยเสียด้วยซ้ำไป ครูสมัยนั้นต้องสอนแม้กระทั่ง การทำสวนครัว การทำกับข้าว ส่วนเรื่อง ตีจริงๆ นั้น ยุคสมัยนั้น พ่อแม่หรือผู้ปกครอง มอบอำนาจ (กำชับครูด้วย อีกต่างหาก)ให้ตีได้เต็มที่ ตามแบบอย่างคำสอนกระมัง “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเอง ก็คนหนึ่งละที่ได้ดีเพราะครู (ถึงแม้นว่า จะขี้เกียจ จนตัวเป็นขน) และศิษย์เองไม่เคยลืมบุญคุณของครูทุกๆท่าน จนทุกวันนี้