วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2551

วิถีชนบทไทย(๔)

ชีวิตชาวนาในฤดูทำนา เป็นชีวิตที่สนุกสนานของเด็กๆ แม้ว่าจะต้องฝ่าแดดฝ่าฝนไปโรงเรียนก็ตาม ขากลับก็วิ่งเล่นตามทางเดิน ตรงไหนมีน้ำขัง (น้ำใสๆ จริงๆนะ)ก็วิ่งไล่เตะน้ำกระจายใส่กัน เป็นที่สนุกสนาน เสื้อผ้านักเรียนก็ไม่พิถีพิถันมาก บางคนก็มีชุดเดียว นักเรียนชายใส่กางเกงขาสั้นและเสื้อแขนสั้นสีกากี ส่วนผู้หญิงก็กระโปรงสีน้ำเงินเสื้อสีขาว รองเท้าไม่มี พอถึงบ้านก็รีบถอดเสื้อผ้า ใส่กางเกงตัวเก่ง เสื้อไม่ต้องใส่ วิ่งออกกลางนา หาไม้ไล่ตีกบตีเขียดไปตามประสา อย่างน้อยๆก็มีเขียดปิ้งจิ้มน้ำปลา (น้ำปลาที่เรียกกันว่า น้ำเคยเพราะทำเองหรือไม่ก็น้ำปล้าร้า)ไว้กินกับข้าว ถ้าดีๆหน่อย ก็แกงต้มเปรอะหน่อไม้ใส่ใบย่านาง แต่ถ้าบ้านไหนทำหลนป้าร้าแล้วละก็ กลิ่นหอมกระจายไปทั่วทั้งหมู่บ้านที่เดียว วันหยุดเสาว์อาทิตย์เป็นสวรรค์ของเด็กๆ และมักจะไม่ค่อยได้เห็นหน้ากัน เว้นแต่เวลากินข้าวเย็น เพราะส่วนใหญ่จะกินใครกินมัน เพราะเด็กที่เข้าโรงเรียนแล้ว ถือว่าโตพอแล้ว ช่วยเหลือตนเองได้ เด็กผู้ชายก็มักจะเข้าไปตามชายป่าหากอบปลากัดลูกทุ่งมาเลี้ยง ที่เรียกว่ากอบปลากัด ก็เพราะใช้มือ 2 มือกอบปลากัดขึ้นมาจากหวอดของมัน แต่ตอนสายมากๆ ก็จะฉวยเบ็ดไปตกปลาหมอตามร่มไม้ริมคันนา การตกปลาหมอจะให้ดีต้องใช้เหยื่อปล้าร้า ปลาในบริเวณนั้น จะกรูกันมาตามกลิ่นของปลาร้า แม้แต่ปลายังชอบปลาร้า แล้วทำไมหนอจึงมีคนกระแนะกระแหนปลาร้าเสียเหลือเกิน