วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บางระกำ ฤาจะระกำต่อไป

บางระกำ ฤาจะชอกช้ำระกำใน

ณ วันนี้ ขอพูดถึงบางระกำ พิษณุโลกบ้าง เพราะเห็นด้วยกับการใช้บางระกำเป็นต้นแบบ (Model) ของการป้องกันและบรรเทาทุกข์จากน้ำท่วม ที่ว่าเห็นด้วยเพราะอะไร? จะบอกกล่าวในภายหลัง แต่ก็ติดใจอยู่ว่า บางระกำโมเดล ทำอย่างไรนั้น จะไม่ขอกล่าว เพราะไม่รู้เหมือนกัน

เริ่มเมื่อตอน เริ่มจำความได้ สักสองพันห้าร้อยสิบนิดๆ จะมีกองเกวียนชาวบางระกำรอนแรมกันมาพักในหมู่บ้าน แล้วจะมีคนหาบคอนปลาแห้งมาแลกเปลี่ยนกับข้าวเปลือก พ่อและพี่ๆจะเอาข้าวเปลือกถังสองถังแลกกับปลาแห้ง 3-4 ไม้เท่านั้น เราเองเห็นว่าไม่สมกันเลย จึงถามพ่อในภายหลัง พ่อบอกว่า เขาเหล่านี้รอนแรมมาจากบางระกำ เพราะน้ำท่วมนาหมดจึงไม่มีข้าวกิน เขาจะมาขอเฉยๆ เราก็ยินดีช่วยเหลือ แต่เขาเหล่านี้มีน้ำใจ เอาสิ่งที่เขาพอมีอยู่ คือ ปลาที่หาได้ช่วงน้ำท่วม มาแลกข้าวเปลือก สิ่งเล็กน้อยนี้ ถึงแม้จะดูไม่สมน้ำสมเนื้อ แต่ถ้าดูที่ความยากลำบากและการรักษาเกียรติภูมิของเขาแล้ว มีค่าทัดเทียมกัน ฉะนั้นในเกือบทุกๆปี เราจะพบกองเกวียนชาวบางระกำ

ชาวบางระกำ ส่วนใหญ่เป็นผู้เคลื่อนย้ายมาจากเพชรบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรีและนครสวรรค์ เหมือนๆกับคนรอบนอกของพิษณุโลก ใช้ภาษาเดิม เช่น ไทยกลาง ไทพวน ไทดำและไทยราชบุรี

บ้านของเราอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำน่านซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเทลาดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ลงสู่ตัวจังหวัด น้ำหลากเกิดจากอิทธิพลของลำน้ำเข็กที่จะท่วมบ้างก็เฉพาะเขตบางกระทุ่มที่เป็นที่ราบลุ่ม อีกฟากของลำน้ำเข็กได้รับอิทธิพลจากลำน้ำเจ็ดแควกับน้ำจากเทือกเขาด้านชาติตระการ แต่ทุกวันนี้ มีเขื่อนเจ็ดแคว โครงการของในหลวง ทำให้บรรเทาภาวะน้ำท่วมได้ และพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวง

บางระกำ เป็นอำเภอฝั่งซ้ายมือของแม่น้ำน่าน เป็นพื้นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมเกิดจากการได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำน่าน แม่น้ำยมและน้ำป่าจากเขาหลวงและเทือกเขาจากอุตรดิถต์ ลำพังลำน้ำน่านไม่ได้มีอิทธิพลให้เกิดน้ำท่วมโดยตรง แต่นอกนั้นแล้วบางระกำจะรับน้ำเต็มจากแม่น้ำยมและน้ำหลากจากเทือกเขา ฉะนั้น ถ้าสุโขทัยระทม บางระกำก็จะชอกช้ำระกำในยิ่งกว่า และจะระกำลึกและสาหัสยิ่ง ถ้าไม่สามารถระบายน้ำลงลำน้ำน่านได้

ที่นี้มาพูดถึง บางระกำโมเดล บางระกำโมเดลคงจะหมายถึงการใช้วิธีการในการป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมของบางระกำไปเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่น้ำท่วมแห่งอื่นๆ กระมัง ทำอย่างไร ยังไม่รู้

แต่ที่..มีข้อคิดเห็นส่วนตัว คือ ลำน้ำยม เป็นแม่น้ำหลักสายเดียว (ปิง วัง ยม น่าน) ที่ยังไม่มีระบบชลประทาน และน้ำก็ท่วมจนสุโขทัย (เหลือ) ระทม กับ บางระกำ (ที่ชอกช้ำระกำนอกระกำในมาชั่วลูกชั่วหลาน)

แล้ว โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีคนคัดค้านมากมาย เหมือนกับว่า การทำอะไรก็ตามนั้น ได้มาฟรีๆ ทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง อยากกินข้าวผัดกระเพรา เราก็ต้องจ่ายเงินให้พ่อค้า หรือ เราอยากได้ของเขาฟรีๆ เราก็ยังต้องไหว้วอนเลย ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยไม่เสียอะไรเลย ที่หนักกว่านั้น ก็คือ เราลืมกันไปเสียแล้วหรือว่า พระเจ้าแผ่นดินและเจ้าเหนือหัว พระองค์ท่านเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้ หรือแม้แต่หัวของตัวเองก็ยินดีถวายให้กับพระองค์ท่าน แต่ทุกวันนี้ เป็นอย่างไรกันเสียแล้วหรือ!